ผู้ชายแพ้กลผู้หญิงสร้างพระธาตุ ตำนานจังหวัดสกลนคร



ครั้นเมื่อถึงเดือน 6 เพ็ญ วันพุทธปีชวด พระยาสุวรรณภิงคาร ได้ข่าวว่าพระสัมนะโคดมบรมศาสดา ปะยะมุลณีศรีสัญญเพ็ชรพระพุทธเจ้าของเรา เสด็จดับขันธ์เข้าสู่ปรินิพพานแล้ว พระมหากัสสปเถระเจ้ากับพระอรหันต์ 500 รูป จำนำเอาอุรังคธาตุพระพุทธเจ้ามาประดิษฐ์ฐานไว้ที่ภูกำพร้า พระยาสุวรรณภิงคารประชุมข้าราชการราษฏรทั้งหลายว่า เราคิดถึงคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่เป็นอันมาก เราทั้งหลายควรจะสร้างอุโมงค์ไว้คอยอุรังคธาตุ เพื่อรอแบ่งไว้สถาปนาเป็นทีสักการะบูชาสืบพระศาสนาต่อไป

สะพานขาม

ข้าราชการราษฎรทั้งชายและหญิง มีความยินดีเห็นชอบด้วย แต่ความมีศรัทธาแยกเป็น 2 พวกคือ พวกผู้ชาย พอใจจะไปก่ออุโมงค์ไว้ที่ดอยคูหา (ภูเพ็ก) ซึ่งเป็นพระแท่นบัลลังก์ของพระพุทธเจ้าเคยเสด็จมาประทับบรรทมที่นั่น พระยาสุวรรณภิงคารก็เห็นชอบด้วย 

ฝ่ายผู้หญิงมีพระนางนารายณ์เจงเวงเป็นประธาน พอใจที่จะก่ออุโมงค์ที่สวนอุทยานเจงเวง และจะก่อสร้างสะพาน (ปัจจุบันคือสะพานขอมโบราณ ตรงลานรวมใจไทสกลฯ ตรงข้ามห้างโลตัส) ด้วยหินศิลาแลงตามถนนออกจากเมืองให้ไปถึงอุทยานนารายณ์เจงเวง เพื่อความสะดวกในการไปมานมัสการบูชาพระธาตุนั้นทุกฤดูกาล

ฝ่ายพระยาสุวรรณภิงคาร ก็อนุญาตตามความประสงค์ของพระนางเจ้านั้น ฝ่ายผู้ชายต่างมีความโสมนัสยินดี พูดจาแข่งกันว่า เมื่อรวบรวมหินแลง หินทราย หินอ่อน อิฐ ปูน พอแล้ว ให้สัญญากันเอาไว้คือให้เสร็จภายในวันกับคืนเป็นอย่างช้า โดยให้ดูสัญญาณเมื่อดาวเพ็กขึ้น

เมื่อให้อาณัติสัญญากันแล้วก็ลงมือ ครั้นเวลากลางคืน ผู้ชายพวกหนุ่ม ๆ ก็ลักลอบมาก่อช่วยผู้หญิงโดยเสียมาก เพราะยินดีในรูป รส กลิ่น เสียง อุโมงค์ของผู้หญิงจึงสำเร็จก่อน และทั้งนางนารายณ์เจงเวงก็เป็นผู้มีไหวพริบดี สั่งให้บ่าวเอาโคมไปขึ้นผูกโยงเสาให้สูงบนต้นไม้ เพื่อให้แสงสว่างทั่วไป

ฝ่ายผู้ชายที่ก่ออุโมงค์อยู่บนดอยคูหา เห็นแสงโคมก็สำคัญว่าดาวเพ็กหรือดาวประกายพรึกออกแล้ว ก็พากันหยุดเสียโดยได้ก่อขึ้นไปได้แต่เพียงขื่อเท่านั้น ฝ่ายหญิงก่อทั้งวันยังค่ำคืนยังรุ่งเช้าก็สำเร็จในคืนนั้น
 
พระธาตุภูเพ็ก

พอรุ่งขึ้นพระมหากัสสปกับพระอรหันต์ 500 องค์ เป็นบริวารเชิญพระอุรังคธาตุพระพุทธเจ้ามาถึงดอยคูหา พระยาสุวรรณภิงคารกับพระนางนารายณ์เจงเวงราชเทวี ขอแบ่งพระอุรังคธาตุพระพุทธเจ้า จะสถาปนาไว้ ณ อุโมงค์ของตนเพื่อเป็นที่ไหว้และบูชา ให้สำเร็จความปรารถนาของตนพระมหากัสสปเถรเจ้า จึงวิสัชนาว่าที่นี้ไม่ใช่ภูกำพร้า จะแบ่งอุรังคธาตุพระพุทธเจ้าที่นี้ก็ผิดจากคำพระพุทธวัจนะซึ่งทรงอาตมาไว้ แล้วจะไม่เป็นมงคลอันประเสริฐแก่พระยาเจ้า 

พระมหากัสสปจึงให้พระอรหันต์กลับไปเอาพระอังคารพระพุทธเจ้ามาบรรจุไว้ที่อุโมงค์คอยดูหา อุโมงค์นารายณ์เจงเวงพอเป็นที่นมัสการบูชา พระมหากัสสปให้นามอุโมงค์ดอยคูหาว่า "ธาตุภูเพ็ก" โดยเหตุผู้ชายหลงว่าโคมไฟผู้หญิงเป็นดาวเพ็ก จึงก่ออุโมงค์ไม่สำเร็จ และให้นามอุโมงค์นางนารายณ์เจงเวงว่า "ธาตุนารายณ์เจงเวง" ตามนามพระนางนารายณ์เจงเวง ซึ่งเป็นเจ้าของสร้างบวงสรวงนั้น 

พระมหากัสสปจัดการสถาปนาธาตุภูเพ็กและธาตุเจงเวง ก็พร้อมอรหันต์ 500 องค์ เชิญพระอุรังคธาตุเจ้าไปยังภูกำพร้าพร้อมทั้งพระยาสุวรรณภิงคารและท้าวพระยาทั้งหลาย ก่ออุโมงค์สวนพระอุรังคธาตุพระพุทธเจ้าไว้ที่ภูกำพร้า แล้วก็ต่างองค์ต่างกลับไปยังบ้านเมืองของตน ปัจจุบันอุโมงค์ที่ประดิษฐานพระอุวงรังคธาตุนั้นคือ องค์พระธาตุพนม นั่นเอง

พระธาตุนารายณ์เจงเวง

ข้อมูลจากเฟซบุ๊คเพจ สกลนครซิตี้
แสดงความคิดเห็น (0)
ใหม่กว่า เก่ากว่า