แห่ปราสาทผึ้ง จ.สกลนคร ในวันพระพุทธเจ้าเปิดโลก

งานแห่ปราสาทผึ้ง จ.สกลนคร

การแห่ปราสาทผึ้ง เป็นประเพณีสำคัญในฮีต 12 จัดขึ้นในเดือนสิบเอ็ด ในเทศกาลออกพรรษาสืบทอดกันมาจนถึงปัจจุบัน การสร้างปราสาทผึ้ง ชาวสกลนครถือเป็นการทำบุญ ถวายแด่พระพุทธเจ้าผ่านองค์พระธาตุเชิงชุม มีความเชื่อว่าชีวิตหลังความตายไปเกิดจะมีบริวารและความมั่งมี

วันพระพุทธเจ้าเปิดโลก จุดเริ่มต้นสร้างปราสาทผึ้งถวาย

ในสมัยพุทธกาล เมื่อสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จไปจำพรรษา เป็นปีที่ 7 บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ครั้นถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 ซึ่งเป็นวันมหาปวารณาออกพรรษา พระพุทธเจ้ามีกำหนดเสด็จสู่เมืองมนุษย์ ซึ่งเรียกวันนี้ว่า “วันพระเจ้าเปิดโลก” พระอินทร์จึงเนรมิตบันได 3 ชนิด ได้แก่
  • บันไดทองคำ อยู่เบื้องขวา สำหรับทวยเทพเทวดาลง
  • บันไดเงิน อยู่เบื้องซ้าย สำหรับพระพรหมลง
  • บันไดแก้วมณี อยู่ตรงกลาง เพื่อให้พระพุทธองค์เสด็จ
ครั้นเสด็จถึงประตูเมืองสังกัสสนคร ทรงประทับพระบาทเบื้องขวาลงก่อน เหล่านาค มนุษย์ และสัตว์นรก ต่างชื่นชมปลื้มปิติในพระพุทธบารมี เกิดมีความเลื่อมใสในบุญกุศล จนจินตนาการเห็นปราสาทสวยงามใคร่จะไปอยู่ จึงรู้ชัดว่าการที่จะได้ไปอยู่ปราสาทอันสวยงามนั้นต้องสร้างบุญกุศล ประพฤติปฏิบัติอยู่ในหลักศีลธรรมอันดี ทำบุญตักบาตร สร้างปราสาทกองบุญนั้นในเมืองมนุษย์เสียก่อนจึงจะไปได้

จากนั้นเป็นต้นมา ผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา จึงพากันคิดสร้างสรรค์ทำบุญปราสาท ให้มีรูปร่างเหมือนวิมานบนสวรรค์ มีลวดลายวิจิตรสวยงามตามยุคตามสมัยสืบต่อมา บางแห่งก็ถือว่าสร้างปราสาทผึ้ง สำหรับรับเสด็จพระพุทธเจ้าเมื่อเสด็จมายังโลกมนุษย์

พระเจ้าเปิดโลก

ตำนานและความเชื่อการได้ถวายปราสาทผึ้ง

สมัยพระเจ้าสุวรรณภิงคาร ในตำนานหนองหารหลวง
การแห่ปราสาทผึ้งของชาวสกลนคร กล่าวกันว่ามีมาตั้งแต่ครั้งตำนาน หนองหารหลวง สมัยพระเจ้าสุวรรณภิงคาร โปรดให้ข้าราชบริพารจัดทำ “ต้นเผิ่ง” (ต้นผึ้ง) ขึ้นในวันออกพรรษา แล้วแห่แหนไปยังวัดพระธาตุเชิงชุมเป็นพุทธบูชา

การสร้างปราสาทผึ้ง รอบองค์พระธาตุพนม

ในสมัยรัตนโกสินทร์ มีพระนิพนธ์ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เรื่องเที่ยวที่ต่าง ๆ ภาค 4 ว่าด้วยมณฑลนครราชสีมา มณฑลอุดร และมณฑลร้อยเอ็ด เมื่อ ร.ศ.125 (2449) มีความตอนหนึ่งกล่าวถึงการแห่ปราสาทผึ้ง รอบองค์พระธาตุพนม เมืองนครพนม ดังนี้

"เวลาบ่าย 4 โมง ราษฏร์แห่ปราสาทผึ้งและบ้องไฟ (บั้งไฟ) เป็นกระบวนใหญ่เข้าประตูชาลามหาเศรษฐี ด้านตะวันตก แห่ประทักษิณองค์พระธาตุสามรอบ กระบวนแห่นั้น คือ ผู้ชายและเด็กเดินข้างหน้าหมู่หนึ่ง แล้วมีพิณพาทย์ต่อไปถึงบุษบกมีเทียนขี้ผึ้งใหญ่ 4 เล่ม ในบุษบก แล้วมีรถบ้องไฟ (บั้งไฟ) ต่อมามีปราสาทผึ้ง คือ แต่งหยวกกล้วยเป็นรูปปราสาท แล้วมีดอกไม้ ทำขี้ผึ้งเป็นเครื่องประดับ มีพิณพาทย์ ฆ้องกลอง แวดล้อมแห่มา และมีชายหญิงเดินตามเป็นตอนๆ กันหลายหมู่ และมีกระจาดประดับประดา อย่างกระจาดผ้าป่าห้อยด้วยไส้เทียน และไหมเข็ด เมื่อกระบวนแห่ครบสามรอบแล้ว ได้นำปราสาทผึ้งไปตั้งถวายพระมหาธาตุ ราษฎร์ก็นั่งประชุมกันเป็นหมู่ๆ ในลานพระมหาธาตุคอยข้าพเจ้าจุดเทียนนมัสการ แล้วรับศีลด้วยกัน พระสงฆ์มีพระครูวิโรจน์รัตโนบลเป็นประธานเจริญพระพุทธมนต์ เวลาค่ำมีการเดินเทียนและจุดบ้องไฟ ดอกไม้พุ่ม และมีเทศน์กัณฑ์หนึ่ง"

จากพระนิพนธ์ดังกล่าวเห็นได้ว่า ประเพณีแห่ปราสาทผึ้ง ได้มีการถือปฏิบัติมาช้านานแล้ว และมีความเกี่ยวข้องกับความเชื่อทางศาสนาด้วย

ความเชื่อ

มีความเชื่อว่า การสร้างปราสาทผึ้งถวาย เป็นการทำบุญเผื่อชีวิตหลังความตาย จะได้ไปเกิดในภพหน้าที่ดี ถ้าเกิดในสวรรค์ จะมีปราสาทอันสวยงาม แวดล้อมด้วยนางฟ้าเป็นบริวาร ถ้าเกิดใหม่ในโลกมนุษย์ จะมีแต่ความมั่งมีศรีสุข

ปราสาทผึ้ง จ.สกลนคร

การสืบทอดถวายปราสาทผึ้งในปัจจุบัน

ชาวพุทธจึงได้จัดสร้างปราสาทผึ้ง เพื่อถวายเป็นพุทธบูชาและสร้างกุศลสืบต่อมา โดยถือเอาวันออกพรรษา เป็นวันประเพณีถวายปราสาทผึ้ง ปัจจุบันประเพณีถวายปราสาทผึ้ง ยังมีอยู่ในภาคอีสานหลายจังหวัด แต่จังหวัดที่มีการถวายปราสาทผึ้ง โดยจัดขบวนแห่อย่างยิ่งใหญ่ ได้แก่ จังหวัดสกลนคร

จังหวัดสกลนคร จัดเป็นประเพณียิ่งใหญ่

มีประชาชนจากต่างจังหวัด เดินทางมาชมความวิจิตรตระการตาขบวนปราสาทผึ้ง พร้อมทั้งจัดงานแสดงความรื่นเริง และมีการทำบุญที่วัดพระธาตุเชิงชุม
ทำเนียบปราสาทผึ้งถ้วยพระราชทาน

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี มีพระมหากรุณาธิคุณทรงพระราชทานถ้วยรางวัลในการประกวดปราสาทผึ้งประยุกต์ในประเพณีออกพรรษาแห่ปราสาทผึ้งของจังหวัดสกลนคร เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ.2539 ถึงปัจจุบัน ซึ่งมีรายชื่อคุ้มวัดหรือชุมชน ที่ได้รับรางวัลในแต่ละปี ดังต่อไปนี้ ปี 2539 วัดหนองบัวใหญ่

ปี 2540 วัดหนองบัวใหญ่
ปี 2541 วัดหนองบัวใหญ่
ปี 2542 วัดสว่างวัฒนา
ปี 2543 วัดสว่างวัฒนา
ปี 2544 วัดสว่างวัฒนา
ปี 2545 วัดหนองบัวใหญ่
ปี 2546 วัดสว่างวัฒนา
ปี 2547 วัดพะเนาว์
ปี 2548 วัดศรีชมพู
ปี 2549 วัดพะเนาว์
ปี 2550 วัดสะพานศรี
ปี 2551 วัดพระธาตุเชิงชุมวรวิหาร
ปี 2552 วัดพระธาตุเชิงชุมวรวิหาร
ปี 2553 วัดพระธาตุเชิงชุมวรวิหาร
ปี 2554 วัดศรีชมพู
ปี 2555 วัดพระธาตุเชิงชุมวรวิหาร
ปี 2556 วัดพะเนาว์
ปี 2557 วัดพระธาตุเชิงชุมวรวิหาร
ปี 2558 วัดพระธาตุเชิงชุมวรวิหาร
ปี 2559 วัดพระธาตุเชิงชุมวรวิหาร

งานแห่ปราสาทผึ้ง จ.สกลนคร

งานแห่ปราสาทผึ้ง จ.สกลนคร
งานแห่ปราสาทผึ้ง จ.สกลนคร

ข้อมูลจากเฟซบุ๊ก เพจสกลนครซิตี้
แสดงความคิดเห็น (0)
ใหม่กว่า เก่ากว่า