รัฐบาล "ประชานิยม" แตกต่างจากรัฐบาล "ประชารัฐ" ตรงที่ประชานิยมไม่เคยแจกอะไรฟรี
บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ |
ประชานิยมทำกองทุนหมู่บ้าน ให้ทุนประชาชนไปทำมาหากิน สร้างงาน สร้างรายได้เกิดผลผลิต เกิดการหมุนเวียนของเงิน เกิดกำลังซื้อ เงินหมุนอยู่ในชุมชนหลายรอบ และหมุนไปไม่ไกลเกินตลาดในตัวเมืองแล้วค่อยออกไปหาผู้ผลิตรายใหญ่
ที่สำคัญเงินกองทุนไม่ได้ให้ฟรี แต่ให้ยืม เงินยังคงอยู่ มีดอกเบี้ย แถมเกิดงาน
จำนำข้าวราคา 15,000-20,000 บาท ก็เป็นการอุดหนุนเกษตรกร เอาเงินใส่มือชาวนา แต่ไม่ใช่การแจก ต้องเอาข้าวมาแลกเงินจำนำ
ฝ่ายที่โจมตียังบอกว่า ไม่แจกเงินชาวนาไปเลย ไปจำนำให้ยุ่งยากทำไม
แนวคิดก็คือ การที่จะมีข้าวมาจำนำต้องมีการผลิต มีการทำนา แล้วคนที่เกี่ยวข้องกับการทำนา การผลิตข้าว กว่าจะเกิดมีข้าว 1 ตัน เกี่ยวข้องกับคน และ พ่อค้าอีกเป็นสิบ เป็นร้อย
คนขายปุ๋ย ขายเครื่องสูบน้ำ ขายยา ขายพันธุ์ข้าว คนขายรถไถ รถเกี่ยว คนรับจ้างดำนา รับจ้างเกี่ยว คนขายน้ำมัน
เงินที่ใส่เข้าไปในมือชาวนาจะหมุนเข้าไปในมือคนที่เกี่ยวข้อง และคนที่เกี่ยวข้องก็หมุนต่อไปหาธุรกิจที่ตัวเองเกี่ยวอยู่จนถึงต้นทางการผลิต
เงินยิ่งหมุน ยิ่งมีพลัง ยิ่งเกิดกำลังซื้อ รัฐก็ยิ่งเก็บภาษีได้จากทุกรอบที่มีการหมุนของเงิน
คนค้าขายสมัยเก่าๆเขาถึงบอกสอนกันว่า “ชาวนาล้มหนึ่งคน พ่อค้าจะล้มตามเป็นสิบ”
ผลจึงประจักษ์ชัดในยุค"ประชารัฐ"ที่กดราคาข้าวให้ตกต่ำ กำลังซื้อจึงหดหาย พ่อค้าจึงเริ่มตายตามชาวนาในอัตรา 1 ต่อ 10 อย่างที่ว่า
ส่วนการแจกเงินคนจนแบบ"ประชารัฐ"ผ่านบัตรคนจน ต่างกันชัดกับการใส่เงินเข้าไปให้เกิดการผลิตแบบกองทุนหมู่บ้าน และจำนำข้าวของ”ประชานิยม”
การแจกเงินผ่านบัตรคนจน เป็นเพียงการ"บริโภค" ไม่ได้ส่งเสริมการผลิต ไม่เกิดการจ้างงาน ไม่มีการเกิดรายได้ เงินไม่หมุนเวียนในชุมชน
เป็นเพียงการส่งผ่านเงินงบประมาณที่มาจากภาษี ไปสู่มือเจ้าสัวผู้ผลิตสินค้าที่ส่งขายผ่านร้านค้าประชารัฐ สินค้าที่ซื้อผ่านบัตรคนจนก็ประเภท สบู่ ยาสีฟัน ผงซักผ้า น้ำมันพืช น้ำตาล ผลชูรสฯลฯ ไม่มีอะไรที่เป็นสินค้าของชาวบ้านและชุมชนเลย
เงินจึงหมุนเพียงเล็กน้อย หมุนจากมือรัฐ ผ่านร้านค้า ไปหามือเจ้าสัวผู้ผลิตรายใหญ่ๆ โดยมี”คนจน”เป็นเครื่องมือ เป็นทางผ่านของเงินเท่านั้นเอง
พลังของเงินที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจจึงไม่มี กำลังซื้อจึงไม่เกิด
“ประชารัฐ”ที่นายสมคิดบอกว่า เศรษฐกิจดี จึงไม่รู้ว่า เศรษฐกิจของใครดี จึงได้รวยกระจุก จนกระจายอยู่อย่างทุกวันนี้
เรื่องโดย ถือแถน ประสพโชค