ผ้าย้อมมูลควายบ้านนาเชือก จังหวัดสกลนคร

ผ้าย้อมมูลควาย

วันนี้แตงโม จะพาทุกคนไปรู้จักกับผลิตภัณฑ์ชิ้นหนึ่ง ที่ผลิตขึ้นมาจากธรรมชาติ สร้างความฮือฮ่าให้กับผู้ที่ได้สัมผัส แต่สามารถสร้างรายได้ ให้กับชาวบ้าน เดือนละหลายหมื่นเลยที่เดียว

ผู้ที่สนใจสินค้าหรือจะศึกษากระบวนการผลิตสามารถติดต่อสอบถามได้ที่ บ้านนาเชือก ต.แร่ อ.พังโคน จ.สกลนคร หรือ ติดต่อคุณสายสุณี โทรศัพท์ 087 222 5256 ไปรู้เรื่องราวของผ้าย้อมมูลความกันเลยครับ
 
คุณสายสุณี ไชยหงษา

กลุ่มผ้าย้อมมูลควายบ้านนาเชือก

ผ้าย้อมมูลควายบ้านนาเชือก รวมกลุ่มกันทอผ้ามีชื่อว่า “กลุ่มทอผ้าย้อมสีธรรมชาติบ้านนาเชือก (มูลควาย)” บ้านนาเชือก หมู่ที่ 9 ตำบลแร่ อำเภอพังโคน จังหวัดสกลนคร ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2553 โดยมีคุณสายสุณี ไชยหงษา ประธานกลุ่มทอผ้าย้อมสีธรรมชาติบ้านนาเชือก (มูลควาย) มีสมาชิกในกลุ่มเริ่มแรก 12 คน มีการลงทุนกันหุ้นละ 100 บาท รวมเป็นเงิน 1,200 บาท นำเงินที่ได้ไปซื้อวัสดุมาทอผ้า

ทางกลุ่มได้ช่วยกันผลิตสินค้า ทำเป็นชิ้นงานต่าง ๆ ไม่ได้คิดค่าแรง โดยนำมูลควายมาย้อมสีเส้นด้าย นำมาทอเป็นผ้าผืนและตัดเย็บ พัฒนาแบบเป็นเสื้อผ้า ตุ๊กตา จำหน่ายภายใต้แบรนด์ “ก็ฝ้าย” ก่อให้เกิดธุรกิจสร้างรายได้ให้ให้ชุมชน ขึ้นแท่นสินค้าโอทอป 5 ดาว ในการส่งประกวดเพียงครั้งแรก และก่อให้เกิดเป็นธุรกิจในชุมชนสร้างรายได้ไม่น้อย

แบรนด์ “ก็ฝ้าย”

จุดเริ่มต้นผ้าย้อมมูลควาย

ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่ามูลควาย จะนำมาใช้ประโยชน์และสามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชนอีกด้วย ซึ่งชาวบ้านนาเชือกนำมูลควายมาย้อมเป็นสีของผ้าได้ แถมให้สีที่เป็นธรรมชาติปราศจากสารเคมี ไอเดียนี้เกิดจากการร่วมมือระหว่างพระสงฆ์กับชาวบ้านช่วยกันคิดกันช่วยทำ

แต่เดิมชาวบ้านที่นี่ส่วนใหญ่จะเลี้ยงวัว เลี้ยงควาย เพราะที่ตั้งของหมู่บ้านสภาพแวดล้อมเป็นที่ราบสูงไม่สามารถปลูกข้าวได้ ลูกหลานบางคนจึงต้องย้ายถิ่นฐานไปทำงานในกรุงเทพ ฯ พระอาจารย์ฉัฐกรณ์ มหาปุญโญ เจ้าอาวาสวัดป่าภูมิธนารักษ์ธรรมาราม อำเภอพังโคน จังหวัดสกลนคร

ท่านเป็นทั้งนักคิดและนักพัฒนาจบสถาปัตย์ด้านดีไซน์ มีความคิดอยากให้ชาวบ้านสามารถพึ่งพาตนเองได้ ด้วยความสามารถของตนเองและใช้ของที่มีอยู่ในหมู่บ้าน จึงนำเอาประสบการณ์ที่เคยทำงาน มาแนะนำให้ชาวบ้านลองนำประโยชน์จากมูลควาย มาทำเป็นสินค้าเพื่อหารายได้เข้าชุมชน

พระอาจารย์ฉัฐกรณ์ มหาปุญโญ

ปรับความคิด วิถีชีวิตคนกับควาย

ชาวบ้านนาเชือก ส่วนใหญ่ยึดอาชีพรับจ้างทอผ้าส่งตามโรงงาน เช่น ผ้าขาวม้า ซึ่งรายได้ไม่ค่อยสมดุลกับรายจ่ายนัก จึงคิดหาอาชีพเสริมโดยมองไปที่งานหัตถกรรม เนื่องจากในหมู่บ้านมีผู้หญิงจำนวนมาก อาจหาเวลาว่างจากการเลี้ยงลูกมาทำงานเสริมได้

กระทั่งวันหนึ่ง พระอาจารย์ฉัฐกรณ์ ถามชาวบ้านไปว่า “การนำเปลือกไม้มาย้อมผ้าต้นไม้ไม่ตายหรือ” ชาวบ้านตอบว่า “ไม่น่าตายนะ” พระอาจารย์เมื่อได้ยินดังนั้น จึงตั้งคำถามเปรียบเทียบว่า “ถ้ามีใครมาลอกผิวหนังของโยม โยมจะตายไหม” ประโยคนั้นทำให้ชาวบ้านคิดได้ และเริ่มมองหาวัตถุดิบอื่นมาย้อมผ้าแทน

พระอาจารย์แนะนำให้ลองนำมูลควายมาย้อมผ้า ซึ่งยอมรับว่าไม่รู้จะย้อมได้หรือไม่ จากประสบการณ์ของพระอาจารย์ที่เคยทำงานด้านดีไซน์มาก่อน ก็คิดว่าน่าจะทำได้เพราะ ควายกินหญ้า กินพืช ซึ่งมูลที่ออกมานั้นก็มาจากธรรมชาติเช่นกัน ช่วงแรกชาวบ้านนึกค้านในใจ คงเหมือนกับใครหลายคน

แต่ทุกคนก็ลองทำ โดยมี คุณสายสุณี ไชยหงษา เป็นผู้นำในการลงมือทำ ได้นำผ้าทอมือ ที่ชาวบ้านทำกันเป็นประจำอยู่แล้ว นำมาย้อมมูลควายที่จะให้สีเขียวธรรมชาติ แต่โทนสีจะให้สีเขียวที่แตกต่างกันไป เข้มบ้าง อ่อนบ้างตามหญ้าที่ควายกิน

ขั้นตอนกรรมวิธีการย้อมและสีจากมูลควาย ชาวบ้านลองผิดลองถูกมานานแต่ไม่ท้อกลับรู้สึกสนุกที่ได้เห็นสีเขียวจากมูลควายที่จะใช้ย้อมผ้าออกมามีโทนสีที่แตกต่างกัน สุดท้ายมารู้ว่าสภาพภูมิอากาศมีผลต่อมีเขียวของใบหญ้า ทำให้ในแต่ละฤดูมูลควายที่ได้สีจะไม่เหมือนกัน แต่รับประกันในเรื่องการปราศจากสารเคมีในการย้อม

ผ้าย้อมมูลควาย

การพัฒนาศักยภาพและเพิ่มทักษะ

การหมักมูลควาย 1 ครั้งจะได้สีเพียง 1 สี จะนำไปย้อมเส้นด้ายในอัตราส่วน 100 กิโลกรัมต่อการย้อม 1 ครั้ง ที่ผ่านมาสามารถผลิตสีเขียวได้ทั้งหมดประมาณ 20 เฉดสี จากไอเดียในการผลิตสินค้าที่ไม่ซ้ำใคร และสีของผลิตภัณฑ์แต่ละชิ้นก็แตกต่างกัน

สมาชิกในกลุ่มได้ความรู้เพิ่มเติม ด้านต่าง ๆ จากมหาวิทยาลัยราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสกลนคร ในปัจจุบันนับวันจะสูญหายไป ปัจจุบันมีชาวบ้านช่วยกันผลิตสินค้าจากผ้าย้อมมูลควาย ประมาณ 30 คน มีทั้งในหมู่บ้านและหมู่บ้านใกล้เคียง ลูกค้าต้องการให้ผลิตเป็นรูปแบบอื่น ทางกลุ่มก็สามารถผลิตให้ได้เช่นกัน โดยราคาเริ่มที่ 59 บาท

ที่ผ่านมามีลูกค้าทั้งในและต่างประเทศ มาสั่งผลิตเป็นจำนวนมาก เช่น ประเทศญี่ปุ่น ปัจจุบันสมาชิกที่ทำงานอยู่เป็นประจำ จะมีรายได้ประมาณ 30,000 บาทต่อเดือน

ผลิตภัณฑ์และสินค้าจากผ้าย้อมมูลควาย

นำมาผลิตเป็นสินค้ารูปแบบต่าง ๆ เช่น ผ้าพันคอ ตุ๊กตาหมอนควาย ผ้าผืน ผ้าพันคอผ้า คลุมไหล่ ที่นอนปิกนิก เปล กระเป๋าเป้ เบาะรองนั่ง ผ้ารองจาน ผ้าปูโต๊ะ โคมไฟ หมวก ตุ๊กตาควาย ล่าสุดดีไซน์เป็นเบาะนวดหลังสำหรับนั่งทำงานหรือขับรถยนต์

กลุ่มได้มาตรฐาน มผช. หรือมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน กระทั่งส่งผลิตภัณฑ์เข้าประกวดสินค้าโอทอป ได้รับรางวัล 5 ดาว ในปี 2556 จากการส่งเข้าคัดสรรเพียงครั้งแรก พร้อมได้รับโอกาสนำสินค้ามาจัดแสดงในงานโอทอป Mid Year 2013 กับบูท Unseen OTOP ได้สร้างความภาคภูมิใจให้แก่สมาชิกในกลุ่มเป็นอย่างมาก

สินค้าจากผ้าย้อมมูลความ

นี้คือการนำภูมิปัญญาชาวบ้าน มาผสมผสานกับความคิดสร้างสรรค์ โดยให้ความสำคัญกับการไม่เบียดเบียนธรรมชาติ เป็นความร่วมมือร่วมแรงกันระหว่าง บ้าน วัด โรงเรียน (บวร) มีรายได้ให้กับชุมชน สืบทอดภูมิปัญญาไปรุ่นลูกรุ่นหลานได้พัฒนาไปเรื่อย ๆ การย้อมผ้าจากมูลควาย ทำให้คนรุ่นหลังเห็นคุณค่าของควาย ช่วยกันอนุรักษ์ควายไทยไว้


บทความ ผ้าย้อมมูลควาย โดยนักศึกษาสาขาการพัฒนาชุมชน มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร
คลิกดูแผนที่ไปศูนย์ผลิตและจำหน่ายผ้าย้อมมูลควาย คลิก
แสดงความคิดเห็น (0)
ใหม่กว่า เก่ากว่า