พระธาตุพนม ล้ม |
ย้อนกลับไปก่อนพระธาตุพนมล้ม สมัยนั้นองค์พระธาตุพนมตั้งตระหง่านสูงเด่นเป็นที่เคารพสักการะของพุทธศาสนิกชนมาเป็นเวลานานนับพันปี จากหลักฐานโบราณคดี องค์พระธาตุพนมสถาปนาขึ้นมาราวพุทธศตวรรษที่ 12-14
เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2518 ได้เกิดเหตุสะเทือนขวัญคนทั้งสองฝั่งโขง เมื่อพระธาตุพนมที่สักการะของพี่น้องไทย - ลาว มาเป็นเวลากว่า 2500 ปี ได้ล้มถล่มลงมาทั้งองค์ เผยให้เห็นของมีค่าที่บรรจุอยู่ภายใน รวมทั้งพระอุรังคธาตุ หรืออัฐิส่วนพระอุระของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และพระพุทธรูปทองคำ 2 องค์ หนัก 4.7 ก.ก. และ 18 ก.ก.บรรจุอยู่ภายใน
พระธาตุพนม ล้ม |
การสร้างและบูรณพระธาตุพนม
ในตำนานกล่าวไว้ว่า องค์พระธาตุพนมสร้างครั้งแรกในราว พ.ศ. 8 ในสมัยอาณาจักรศรีโคตรบูรใช้ดินดิบก่อขึ้นเป็นรูปเตาสี่เหลี่ยม แล้วเผาให้สุก กว้างด้านละ 2 วา สูง 2 วา ข้างในเป็นโพรงมีประตูปิดทั้ง 4 ด้าน เมื่อสร้างเสร็จแล้วได้อัญเชิญพระอุรังคธาตุ ที่พระมหากัสสปะเถระนำมาจากประเทศอินเดียเข้าบรรจุไว้ต่อมา ได้สร้างครอบอีกหลายชั้นในแต่ละสมัย บ้างก็สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในพุทธศตวรรษที่ 11 หรือ 12 สมัยทวารวดี มีรูปทรงสี่เหลี่ยม ประดับด้วยลวดลายวิจิตรประณีตทั้งองค์ มีความหมายทางพระพุทธศาสนา สูงจากพื้นดิน 53 เมตร ฉัตรทองคำสูง 4 เมตร รวมเป็น 57 เมตร ประดิษฐานอยู่ห่างแม่น้ำโขงประมาณ 500 เมตร ปัจจุบันอยู่ใน วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม
ตลอดเวลาที่มีการบูรณปฏิสังขรณ์มาหลายครั้ง หลายยุค หลายสมัย วัสดุก่อสร้างต่างๆ ย่อมมีการเสื่อมสภาพไปตามกาลเวลา ประกอบกับมีการบูรณะเสริมสร้าง โดยการต่อยอดหลายครั้ง ไม่ได้มีการแก้ไขโครงสร้างส่วนฐานแต่อย่างใด ทำให้ฐานส่วนล่างต้องรับน้ำหนักจำนวนมหาศาล
พระธาตุพนม ส่งสัญญาณเตือนเริ่มแตกร้าว
โดยเฉพาะในการบูรณปฏิสังขรณ์ เมื่อ พ.ศ.2483-2484 ได้มีการทำรูระบายอากาศรอบด้านในส่วนยอดองค์พระธาตุ รูอากาศนี้ทำให้ฝนไหลเข้ามา แต่ส่วนล่างไม่มีทางระบายน้ำออก ส่วนยอดองค์พระธาตุ จึงกลายสภาพเป็นที่เก็บน้ำแล้วค่อย ๆ ซึมเซาะอิฐภายในให้เปื่อยยุ่ยองค์พระธาตุได้รับการกระทบกระเทือนมาก เมื่อได้เกิดแผ่นดินไหวในเดือนมีนาคม พ.ศ.2518 เกิดรอยร้าวขนาดใหญ่ขึ้นมากมาย ลามจากส่วนบนที่เริ่มปริร้าวลงมายังฐาน องค์พระธาตุพนมก็เริ่มเอียงจากแกนเดิม ต่อมาเข้าช่วงฤดูฝนในเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม มีฝนตกหนักเกือบทุกวัน และมีลมแรงพัดตลอดเวลา รอยร้าวที่มีแต่เดิมเริ่มแยกออกกว้างขึ้น
พระธาตุพนม ล้ม |
พระธาตุพนม ล้มทลายลง เวลา19.38 น.
วันที่ 11 สิงหาคม 2518 ตอนเช้าฐานพระธาตุพนมด้านทิศตะวันออก ผนังปูนตรงลวดลายประตูจำหลัก ซึ่งอยู่กึ่งกลางตลอดถึงส่วนที่เป็นซุ้มทรงบายศรี ปูนกะเทาะหลุดร่วงลงมาทั้งแผ่น เป็นระยะ ๆ และมากขึ้นเรื่อย ๆ จนมองเห็นเศษปูนกองอยู่ที่พื้นฐานเจดีย์ทั่วไป รอยแตกแยกเริ่มขยายกว้างมากขึ้นล่วงมาถึงเวลาเย็น บริเวณที่อิฐร่วงหล่นลงมาในตอนเช้าก็เริ่มหลุดร่วงอีก เป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยมากขึ้นเรื่อย ๆ อิฐที่หลุดเป็นรอยลึกเข้าไปในฐาน เมื่ออิฐหลุดร่วงจะได้ยินเสียงครืดคราดออกมาจากภายในองค์พระธาตุส่วนฐานนั้นเป็นระยะ มองดูอิฐที่ร่วงลงมาแล้วใจหาย
แม้แต่เสียงที่ได้ยิน จะเป็นสัญญาณอันตรายเตือนให้รู้ล่วงหน้าว่า องค์พระธาตุพนม อาจจะโค่นล้มลงมาเวลาหนึ่งเวลาใดก็ตาม ผู้คนผลัดเวียนมาดูกันมาก เฝ้าสังเกตการณ์องค์พระธาตุอย่างใจจดใจจ่อ วิตกวิจารณ์คาดการณ์กันไปต่าง ๆ นานา ทุกคนหวั่นวิตกต่อเหตุการณ์เบื้องหน้า
แต่ก็ไม่มีผู้หนึ่งผู้ใดกล้าคิดว่า พระธาตุพนมที่สูงตระหง่านจะโค่นล้ม ทั้งนี้เพราะต่างมีความมั่นใจว่า องค์พระธาตุพนมนี้เป็นปูชนียสถานสำคัญคู่บ้านคู่เมือง ย่อมมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์คุ้มครองปกปักรักษา ถึงจะชำรุดทรุดโทรมตามกาลเวลา แต่ก็คงสามารถซ่อมแซมให้ดีขึ้นดังเดิมได้
ขณะนั้นเมื่ออิฐร่วงลงมาเป็นระยะ ๆ ทะลวงลึกเข้าไปเป็นช่องเหมือนถูกคว้านให้เป็นโพรงอยู่ภายในฐาน การหลุดร่วงของอิฐในตอนนี้มีทั้งอิฐและดินหล่นลงมา จนกระทั่งมองเห็นหินแท่งยาวแบนอยู่ภายในแท่งหิน ทำให้เข้าใจว่า ส่วนฐานขององค์พระธาตุพนมภายในเป็นดินมากกว่าอิฐหรือหิน องค์พระธาตุเอียงไปทางทิศตะวันออกจนเห็นได้ชัด
ครั้นถึงเวลา 19.38 น. พระธาตุพนมได้ล้มทลายลงมาทั้งองค์
พระธาตุพนม ล้ม |
ไขสาเหตุการพังทลายขององค์พระธาตุพนม
เป็นสาเหตุสร้างรอยร้าวให้สะสมมากกว่า เหตุที่เกิดขึ้นในทันใด อาการพังทลายไม่ได้ทรุดที่ฐาน หากเริ่มจากยอดที่เป็นน้ำหนักในแนวดิ่งที่หนักมาก มากดคอบัวฐานชั้นที่ 1 และชั้นที่ 2 ให้บิออกเป็นแนวฉีกลึกไปในเจดีย์ เพราะอิฐเปียกยุ่ยจากฝนตกติดต่อกันอย่างหนัก ต่อจากนั้นอิฐผนังที่ยุ่ยอยู่แล้วก็ค่อย ๆ ทลายลงเป็นแถบ ๆ ยอดเจดีย์กดพุ่งลงมาตามแนวดิ่งหักลงเป็นท่อน ๆ องค์พระธาตุได้ล้มฟาดลงมาทางทิศตะวันออก แตกหักออกเป็นท่อน 3 ตอนพบพระอุรังคธาตุ 8 องค์ และสิ่งล้ำค่าหลังพระธาตุพนมล้ม
หลังจากพระธาตุพนมล้มแล้ เจ้าหน้าที่กรมศิลปากรได้ทำการรื้อถอน และขนย้ายซากปรักหักพังขององค์พระธาตุออก พบสิ่งล้ำค่ามากมาย รวมทั้งพระอุรังคธาตุ 8 องค์ บรรจุอยู่ในผอบแก้วซึ่งมีสัณฐานคล้ายรูปหัวใจ สูง 2.1 เซนติเมตร หุ้มด้วยทอง มีช่องเจาะสี่ด้าน มีฝาทองคำปิดสนิท ภายในผอบมีน้ำมันจันทน์หล่อเลี้ยงอยู่ส่วนหนึ่งพระกรุพระธาตุพนม ได้รับการเก็บรักษาไว้ที่ในพิพิธภัณฑ์ของวัด เป็นพระกรุพระธาตุพนมสำหรับอนุชนได้ศึกษา อีกส่วนหนึ่งของพระกรุพระธาตุพนม ให้นำเข้าถวายคืนแก่องค์พระธาตุรวม พระกรุพระธาตุพนม ทั้งวัตถุที่ประชาชนบริจาคเพิ่มเติมด้วย รวมแล้วมีวัตถุ พระกรุพระธาตุพนม ที่บรรจุไว้มี 30,000 ชิ้น
พระธาตุพนม ล้ม |
พระธาตุพนม ล้ม |
สมโภชพระอุรังคธาตุ 7 วัน 7 คืน
ในวันที่ 26 ธันวาคม 2518 ได้มีพิธีสมโภชพระอุรังคธาตุ 7 วัน 7 คืน ในงานนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (ร.9) ได้เสด็จทรงเป็นประธานในพิธี และสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก ทรงเป็นประธานเจริญพระพุทธมนต์เริ่มสร้างพระธาตุพนมครอบองค์เดิม
จนวันที่ 12 พฤษภาคม 2519 บริษัท อิตาเลียน - ไทย ได้เริ่มขุดหลุมเข็มรากพระธาตุพนมองค์ใหม่ และได้ทำพิธีลงเข็มในวันที่ 28 พฤษภาคม โดยสร้างครอบฐานพระธาตุองค์เดิม ซึ่งยังเหลืออยู่ประมาณ 6 เมตรเศษ คราวนี้สร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก ข้างในกลวงเป็นโพรงมีคานยึด 5 แห่ง มีกรุสำหรับบรรจุพระอุรังคธาตุ 1 กรุ และกรุสำหรับบรรจุสิ่งของที่พบเมื่อพระธาตุทลายลงมาอีก 8 กรุเมื่อสร้างโครงพระธาตุด้วยคอนกรีตแล้วเสร็จ จึงทำการตบแต่งลวดลาย อิฐลวดลายเก่าที่คัดเลือกไว้ไม่สามารถนำไปปะติดปะต่อได้ทั้งหมด เพราะพระธาตุพนมองค์ใหม่เล็กกว่าองค์เก่า คือที่ช่วงล่างเล็กกว่าองค์เดิมด้านละประมาณ 5 เซนติเมตร อีกทั้งอิฐลวดลายชำรุดเสียหายไปมาก แต่ที่เหลืออยู่ก็พอเป็นข้อมูลในการศึกษาได้
ใน พ.ศ. 2525 หลังจากลงมือสร้างพระธาตุพนม มา 3 ปีเศษ ก็แล้วเสร็จสมบูรณ์ มีฐานกว้างด้านละ 12.33 เมตร สูง 53.60 เมตร เป็นเจดีย์ทรงสี่เหลี่ยมสูง แลดูสง่างามเหมือนองค์เดิม นอกจากบรรจุพระอุรังคธาตุและพระบรมสารีริกธาตุไว้แล้ว ยังบรรจุของมีค่ามากมายนับหมื่นชิ้น ส่วนฉัตรทองคำบนยอดพระธาตุ มีน้ำหนักถึง 110 กิโลกรัม
ซากอิฐปูนของพระธาตุเก่าที่ล้มลงนั้น ทางวัดได้ขนไปเก็บไว้ที่เกาะกลางสระน้ำหน้าวัด โดยสร้างสถูปบรรจุอย่างสวยงาม
พระธาตุพนม ขึ้นเสียดฟ้าอีกครั้ง
วันที่ 21-23 มีนาคม 2522 รัฐบาลได้จัดพระราชพิธีบรรจุพระอุรังคธาตุ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จเป็นประธานในพิธีในวันแรก วันที่ 2 สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปรินายก ทรงเป็นประธานยกฉัตรพระธาตุ ในวันที่ 3 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงบรรจุพระอุรังคธาตุพระธาตุพนม ปูชนียวัตถุอายุกว่า 2500 ปี ที่ล้มทลายลงด้วยกาลเวลา ก็กลับฟื้นคืนขึ้นเสียดฟ้าอีกครั้ง และเป็นที่ยึดมั่นศรัทธาทางศาสนาของประชาชน 2 ฝั่งโขงอย่างยั่งยืนตลอดไป
ดูคลิป ประวัติศาสตร์พระธาตุพนม