วันพระ เข้าวัดทำบุญ

   แตงโมเป็นคนหนึ่งที่เป็นพุทธศาสนิกชนชาวพุทธ วันพระ8ค่ำและ14หรือ15ค่ำ หน้าที่ของชาวพุทธคือทะนุบำรุงพระพุทธศาสนา โดยการเข้าวัดทำบุญ เช่น ให้ทาน รักษาศีล  และเจริญสมาธิ ผมจะทำอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นปกติ เพราะว่าวันพระโดยเฉพาะวันพระใหญ่ ญาติพี่น้องของเราที่ตายไป จะรอคอยผลอธิฐานบุญจากเรา แตงโมขอเชิญทุกคนทำบุญที่วัดใกล้บ้านอย่างน้อยทุกวันพระนะครับ



ความเป็นมาของวันพระ


     ครั้งหนึ่งเมื่อสมัยพุทธกาลที่ผ่านมาได้มีเหล่านักบวชนอกศาสนาประชุมแสดงคำสอนตามความเชื่อของตนทุกวัน 8 ค่ำ 14 ค่ำ และ 15 ค่ำเป็นปกติ เมื่อพระเจ้าพิมพิสารพระราชาแห่งแคว้นมคธ ทราบจึงเกิดความคิดว่าคณะสงฆ์ในพระพุทธศาสนาน่าจะได้กระทำเช่นนั้นบ้าง เพื่อให้เกิดความเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนาของเหล่าพุทธศาสนิกชน เฉกเช่นที่นักบวชนอกศาสนานั้นได้รับ จึงกราบทูลขอพุทธานุญาตจากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อพระเจ้าพิมพิสารกราบทูลแล้ว พระพุทธองค์จึงทรงอนุญาตตามนั้น การประชุมกันของเหล่าสงฆ์ตามพุทธานุญาตได้มีวิวัฒนาการขึ้นตามลำดับ ตั้งแต่การมาประชุมแล้วนั่งนิ่ง เริ่มแสดงธรรม ต่อมาทรงอนุญาตให้สวดปาฏิโมกข์ ซึ่งเป็นการทบทวนข้อปฏิบัติที่เป็นวินัยของสงฆ์ในพระพุทธศาสนาพร้อมกับการแสดงอาบัติ





วันพระหรือวันอุโบสถ


      
กำหนดโดยถือการเปลี่ยนแปลงของพระจันทร์ จากเดือนเต็มดวงจนถึงเดือนมืดและกลับเป็นเดือนเต็มดวงอีกครั้ง โดยคืนพระจันทร์เต็มดวงเรียก ขึ้น 15 ค่ำ พระจันทร์ค่อยๆ ดับ นับ แรม 1 ค่ำ 2 ค่ำ ตามลำดับ ถึง 15 ค่ำ เป็นวันพระจันทร์ดับพอดี จากนั้นเริ่มนับขึ้นจากวันขึ้น 1 ค่ำ 2 ค่ำ จนถึงขึ้น 15 ค่ำ เป็นวันพระจันทร์เต็มดวงอีกครั้งหนึ่ง เป็นอันครบรอบ 1 เดือน


ความสำคัญของวันพระ 



      จากพุทธานุญาตให้มีตัวแทนสงฆ์รูปหนึ่งสวดทบทวนสิกขาบท ที่ทรงบัญญัติไว้เป็นระเบียบปฏิบัติเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างผาสุกและเพื่อความบริสุทธิ์ในเพศสมณะที่ต้องบริบูรณ์ด้วย ศีล สมาธิ (Meditation) และปัญญา อันเป็นทางหลุดพ้นจากทุกข์ทั้งปวงตามเส้นทางของพระพุทธศาสนา โดยมีภิกษุผู้สวดทบทวน เมื่อสวดถึงข้อใดแล้วมีภิกษุรูปใดรูปใดรูปหนึ่งประพฤติผิดข้อบังคับนั้น จะเปิดเผยท่ามกลางที่ประชุม หรือที่เรียกว่าแสดงอาบัติ ซึ่งถือปฏิบัติเช่นนี้สืบต่อๆ กันมาตั้งแต่ครั้งพุทธกาล ก่อให้เกิดผลดังนี้ คือ


  
1. เกิดความสามัคคีเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของคณะสงฆ์ ด้วยระเบียบปฏิบัติที่หมั่นทบทวนและเตือนตนด้วยการแสดงการยอมรับในสิ่งที่ตนละเมิด เพื่อแก้ไขต่อไป ในข้อนี้มีปรากฏการณ์เด่นชัดเมื่อครั้งพุทธกาล คือเมื่อครั้งพระภิกษุชาวเมืองโกสัมพีทะเลาะเบาะแว้งแตกความสามัคคีกันภายหลังเมื่อกลับมีความสามัคคีใหม่ พระพุทธองค์ทรงอนุญาตให้ประชุมทำอุโบสถสวดพระปาฏิโมกข์เป็นกรณีพิเศษ ที่เรียกว่า วันสามัคคีอุโบสถ
     
2.  การหมั่นทบทวนอย่างสม่ำเสมอ ทำให้พระธรรมคำสอนไม่คลาดเคลื่อน เลือนหายและทำให้หมู่คณะจรรโลงพระพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรืองสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบันนี้ 
วันอุโบสถนั้น นอกเหนือจากเป็นวันสำคัญของทางคณะสงฆ์ดังกล่าวแล้ว ยังเป็นวันประชุมฟังธรรมของเหล่าพุทธศาสนิกชนตั้งแต่สมัยพุทธกาลจนถึงปัจจุบันนี้

 ในส่วนของพุทธศาสนิกชนนั้น การละชั่ว ทำดี ทำจิตใจให้ผ่องใส เป็นหัวใจของพระพุทธศาสนาผ่านการแสดงออกเป็นรูปธรรมด้วยการทำทาน รักษาศีล และเจริญภาวนา ก็จริง แต่ในชีวิตประจำวันแล้วโลกภายนอกสำหรับคฤหัสถ์ผู้ครองเรือนเต็มไปด้วยข้อจำกัดในการกระทำความดีเหล่านั้นให้สมบูรณ์ 
ดังนั้น วันอุโบสถ จึงเป็นเป็นการปรารภเหตุที่จะให้พุทธศาสนิกชนทั้งหลายได้มีโอกาสหันกลับมาทบทวนการทำดีดังกล่าว โดยการทำทาน รักษาศีล เจริญภาวนามากขึ้นเป็นพิเศษ







มหัศจรรย์วันพระ


  ในวันพระตลอดเวลา 1 เดือน ตั้งแต่ข้างแรมจนถึงข้างขึ้น 15 ค่ำ 1 เดือน นี้มีอะไรเกิดขึ้น ในวันนี้ถ้ามนุษย์ทำความดีก็จะถูกเจ้าหน้าที่เขตบันทึกไว้ในแผ่นลานทอง แล้วเจ้าหน้าที่ในแต่ละเขตก็จะรวบรวมแผ่นทอง ไปให้อากาศเทวาเพื่อรวมบัญชีไปให้หัวหน้าอากาศเทวา แล้วรวบรวมไปให้ท้าวจตุโลกบาลทั้ง 4 แล้วนำไปถวายท้าวสักกเทวราช หรือพระอินทร์เพื่อรายงาน ท้าวสักกเทวราชก็ทำการประชุมคณะกรรมการเพื่อรายงานในวันโกนหรือก่อนวันพระ 1 วัน  วาระการประชุมมี 2 วาระ คือ 
1. เรื่องราวของดาวดึงส์  
2. เรื่องราวของท้าวจตุโลกบาลที่เอาบัญชีมารายงาน





เรื่องโดย แตงโม
ติดตามได้ที่ facebook.com/tangmo.lifestyles คลิก
แสดงความคิดเห็น (0)
ใหม่กว่า เก่ากว่า